ก่อตั้งขึ้นโดยท่านบุญราศี เฟรเดอริก โอซานัม ที่ประเทศฝรั่งเศส เมี่อเดือน พฤษภาคม ค.ศ.1833 ครั้งแรกมีสมาชิก 7 คน คือ 1. เฟรเดอริก โอซานัม 2.บายยี 3.ลัลลีเอร์ 4.เลอตายยังดีเอร์ 5.ลามาช 6.เดอไว 7.กลาเว กิจการของคณะฯ ขยายรวดเร็วมาก เมื่อถึงเดือน พฤศจิกายน ค.ศ.1834 สมาชิกเพิ่มมากกว่า 100 คน กิจกรรมหลักของคณะคือ การช่วยเหลือคนจน ชื่อคณะครั้งแรกเรียกว่า ชมรมเมตตาจิต เนื่องจากคณะนี้ดำเนินงานโดยฆราวาสจึงเห็นควรให้มีนักบุญองค์อุปถัมภ์ประจำคณะฯ เพื่อเป็นแบบอย่างและเป็นที่พึ่ง จึงเลือกท่านนักบุญวินเซนเดอปอลเป็นองค์อุปถัมภ์ (ปอล ซาเวียร์ แปลจากภาษาฝรั่งเศส) ประวัติก่อตั้งสมาคมนักบุญวินเซนเดอปอล ประเทศไทย ระหว่างปี ค.ศ.1944 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณพ่อมอริส ยอลี อยู่ที่โรงเรียนกินนอนศรีราชา ท่านเห็นว่าเด็กนักเรียนส่วนหนึ่งจะกลับกรุงเทพฯ หลังสงครามยุติแล้ว และต่อไปเด็กเหล่านี้คงจะมีฐานะดีถ้าให้เด็กเหล่านี้เห็นความยากลำบากของคนจนคงจะเป็นการดี ท่านจึงคิดวางแผนก่อตั้งสมาคมนักบุญวินเซนเดอปอลในประเทศไทยขึ้น คุณพ่อจึงได้นำเด็กนักเรียนคาทอลิกบางคนไปเยี่ยมครอบครัวคนยากจนที่ศรีราชา มีหญิงชราหลังค่อมอาศัยอยู่บริเวณหลังตลาดศรีราชาริมทะเล บ้านของแกน่าสังเวชที่สุด มีเสาไม้ยางเอียงๆ น่ากลัวจะพังลงมา หลังคามุงด้วยจากที่ผุแล้ว คนเอาสังกะสีสองแผ่นไปตีแปะไว้ให้ คุณพ่อถามว่า และเวลาฝนตก ยายทำอย่างไร แกตอบว่า ยายก็ขึ้นไปคุดคู้อยู่ใต้แผ่นสังกะสี คอยจนกว่าฝนจะหยุด จากเงินที่คุณพ่อได้จากผู้ใจบุญ ยายจึงได้บ้านใหม่หลังหนึ่ง ยายพูดทั้งน้ำตาว่า มันจะอยู่นานกว่าฉัน หลังสงครามโลกยุติ เมื่อคุณพ่อ ย้ายกลับมาอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ (8 มิถุนายน ค.ศ.1947) ท่านได้ชักชวนคุณครูและคนที่สนใจ 6-7 คน ชี้แจงเรื่องงานของวินเซนดอปอล คุณพ่อพูดว่า พ่อมีเงิน 10 บาท เราจะไปช่วยครอบครัวหนึ่งพร้อมกัน และด้วยเงิน 10 บาท ของคุณพ่อเอง คณะวินเซนเดอปอลจึงเริ่มก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งมี อาจารย์มานิต บุญคั้นผลเป็นประธาน และ พระยาวิสุทธากร เป็นรองประธาน และมีการจดทะเบียน เป็นสมาคมนักบุญวิเซนเดอปอล ประเทศไทย อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1948 ตามใบอนุญาตที่ จ.417/2491 |